E-Commerce | E-Logistics | E-Payment

ผ่านไปแล้วสำหรับงาน Priceza E-Commerce Awards 2017 ซึ่งภายในงานมีการจัดเสวนาเกี่ยวกับเทรนด์ของ อีคอมเมิร์ซ อีโลจิสติกส์ และ อีเพย์เมนท์ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2018  ไพรซ์ซ่า (Priceza.com) เองก็เปรียบเหมือนศูนย์กลางในการที่จะให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้มาพบกัน และช่วยส่งเสริมให้อีคอมเมิร์ซเป็นระบบนิเวศที่มีความสมดุล และเกิดความโปร่งใส เพื่อหวังให้อีคอมเมิร์ซสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจได้ในอนาคต

อีคอมเมิร์ซ

  • C2C โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เห็นได้ชัดว่า ในปี 2017 คนไทยมีการซื้อของออนไลน์มากขึ้นในทุกมิติ เช่น ผ่าน Marketplace โซเชียลมีเดีย อย่าง เฟสบุ๊ค หรือการใช้บริการผ่านแอพฯ อย่างเช่น Grab หรือ Uber และมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีการใช้บริการสั่งอาหารให้มาส่งที่บ้านมากขึ้น แนวโน้มในปี 2018 คือ จะมีธุรกิจผู้ค้ารายย่อย (C2C) บนโซเชียลมีเดียมากขึ้น อันเป็นผลจากแรงผลักของการทำ Online Payment ที่สะดวกขึ้น และความนิยมในการทำอาชีพเสริม

  • Marketplace จะแข่งขันอย่างดุเดือด

จะมีผู้เล่นรายใหญ่จากต่างชาติเข้ามาในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจ SME ในประเทศทำการค้าได้ง่ายขึ้น จำนวนสินค้าใน Marketplace จะมีเพิ่มขึ้นมหาศาลทั้งจาก SME ในประเทศเอง และสินค้าจากต่างประเทศ การเข้ามาของ Global Player มักจะมีการทำตลาดด้านราคาอย่างรุนแรง ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคให้ยึดติดกับส่วนลดมากขึ้น มี Price-Sensitive มากขึ้น

  • ธุรกิจออฟไลน์ยังอยู่ได้

เนื่องจากเป็นส่วนที่สร้างประสบการณ์ลูกค้า (User Experience) และเป็นส่วนเสริมในการทำ Omnichannel โดยธุรกิจจะต้องสร้างประสบการณ์ลูกค้า ระหว่างออนไลน์ และ ออฟไลน์ ให้ต่อเนื่อง และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้

เทคนิคที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต คือ รู้จักลูกค้า รู้จุดแข็ง จุดอ่อนของธุรกิจ ใช้ข้อมูลเข้ามาประกอบการตัดสินใจให้มากขึ้น เลือกใช้ Marketplace ที่เหมาะสมกับธุรกิจ หาพาร์ทเนอร์ที่ถูกต้อง สำหรับธุรกิจรายเล็ก และรายกลางควรใช้เทคนิค PPC (Platform – สร้างพื้นที่ในการทำธุรกิจ มากกว่าเน้นขายสินค้า Partner – อย่าทำเองทั้งหมด Customer – โฟกัสให้ถูกกลุ่มลูกค้า)

อีโลจิสติกส์

  • เลือกได้ให้ตรงใจลูกค้า

แต่ละบริษัทที่ให้บริการโลจิสติกส์ ต่างมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการของลูกค้าในธุรกิจนั้นๆ เช่น ต้องการให้จัดส่งทันที ต้องการส่งเอกสาร ต้องการค่าจัดส่งราคาถูก หรือการจัดส่งสินค้าชิ้นใหญ่ เป็นต้น มีการพูดถึงการจัดส่งสินค้าภายในวันเดียว (Same Day Delivery) ความท้าทายของบริษัทที่ให้บริการจัดส่งถึงมือลูกค้า (Last Mile Delivery) การจัดส่งแบบ On-Demand ซึ่งการจัดส่งทุกรูปแบบ ล้วนเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญในการสร้างประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า ดังนั้น การจัดการเรื่องคุณภาพของกระบวนการ และพนักงานส่งสินค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์

  • หาพาร์ทเนอร์แล้วโตไปด้วยกัน

เพราะการทำโลจิสติกส์มีรายละเอียดในการจัดการค่อนข้างมาก ธุรกิจอีคอมเมิร์ซอาจจะไม่จำเป็นต้องมีการดำเนินการทำระบบโลจิสติกส์ด้วยตัวเอง หรือจะมีก็อาจจะเป็นเพียงส่วนน้อย ควรจะ Outsource การทำโลจิสติกส์ เพื่อไปโฟกัสกับการทำยอดขายแทนจะดีกว่า เทรนด์ในอนาคตสำหรับโลจิสติกส์ คือ ลูกค้าอยากได้สินค้าเร็วขึ้น ในราคาขนส่งที่ถูกลง รวมถึงการมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ใช้การแชร์โลเคชั่น แทนการพิมพ์ที่อยู่บนไลน์

  • ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย

Amazon เริ่มใช้โดรนในการจัดส่งสินค้าในอเมริกา ซึ่งในประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เช่นกัน โดรนสำหรับการส่งของน้อยชิ้นในพื้นที่เข้าถึงลำบากเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย หรือการใช้งานล็อคเกอร์ เป็นจุดรับส่งสินค้าสำหรับลูกค้าที่ทำงานประจำ และไม่สะดวกรับของในเวลากลางวัน ทั้งนี้ เทคโนโลยีบางอย่างอาจต้องการแรงสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย เช่น การจัดระเบียบและการออกใบอนุญาตในการใช้โดรน

อีเพย์เมนท์

  • รูปแบบการชำระเงินใหม่ๆ

Payment หรือ ระบบการชำระเงิน เป็นขั้นตอนสำคัญในการซื้อขายอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ในปัจจุบันถือว่า ประเทศไทยยังอยู่ในจุดเริ่มของ E-Payment เท่านั้น ก่อนหน้านี้ การชำระเงินเมื่อมีการจัดส่งสินค้า (COD – Cash on Delivery) ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจ กรณีที่ลูกค้าอยากเห็นของก่อนชำระเงิน แต่ด้วยต้นทุนที่สูง และความไม่สะดวก ทำให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินในรูปแบบใหม่เพิ่มขึ้น เช่น การชำระเงินออนไลน์ การใช้เลขที่บัญชีสำหรับผู้ขายรายย่อย E-wallet การใช้ In-App Purchase เหมือน Grab หรือ Uber ที่ผูกบัตรเครดิตไว้กับแอพ และจะตัดเงินหลังการให้บริการ

  • พร้อมไหม พร้อมเพย์

ปัจจุบัน ธุรกิจสามารถใช้งานการชำระเงินแบบออนไลน์ได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น โดยมีต้นทุนในการทำธุรกรรมลดลง ไม่ว่าจะเป็นการนำพร้อมเพย์มาใช้ หรือการใช้ QR Code แทนข้อมูลเลขบัญชีในการชำระเงิน ซึ่งต่อไป เราน่าจะเห็นความร่วมมือของธนาคาร ผู้ให้บริการทางด้านโทรคมนาคม และ Fintech ในการร่วมมือพัฒนา ให้ E-wallet  และ E-Payment มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

  • E-Wallet จะโตขึ้น

แนวโน้มการใช้บัตรเครดิตน่าจะยังคงอยู่ แต่มีโอกาสที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในกลุ่มที่ใช้เงินสด ให้มาใช้ E-Wallet ได้มากขึ้น เพราะการใช้เงินสดยังมีความยุ่งยากในการใช้อยู่บ้าง เช่น ไม่มีแบงค์ย่อยในขณะนั้น ซึ่งหากมีจำนวนร้านค้าที่รับ E-Wallet มากขึ้น ก็จะเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้ E-Wallet ในผู้บริโภคมากขึ้น

หนึ่งปัญหาของการใช้ E-Wallet คือ ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เนต ณ จุดที่ทำการซื้อขาย ซึ่งต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในส่วนของการวางระบบอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้ทั่วถึง เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

ในอนาคต น่าจะมีบริษัท Retailer รายใหญ่หลายราย ออก E-Wallet เป็นของตัวเอง เพื่อเป็นการลดต้นทุนการจัดการเงินสดในบริษัท ซึ่งการมี E-wallet หลายๆใบย่อมสร้างความยุ่งยากให้กับผู้บริโภค ภาครัฐบาลหรือธนาคารแห่งประเทศไทยควรเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อของหลายๆ E-Wallet เข้าด้วยกัน

ทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลที่น่าสนใจ และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมให้กับหลายๆธุรกิจในปีหน้า เพื่อที่จะพัฒนาตัวเอง และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีชั้นเชิง