ในรอบปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีที่ร้อนแรงของสตาร์ทอัพในกลุ่ม Insurtech และผู้เล่นรายเก่าอย่าง Priceza ก็ถือโอกาสเปิดตัว Priceza Money ในปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน โดยเริ่มจากให้บริการเปรียบเทียบเบี้ยประกันรถยนต์จากหลากหลายโบรกเกอร์ชั้นนำของเมืองไทย ครอบคลุมรุ่นรถมากกว่า 1,000 รุ่น จากกว่า 20 บริษัทประกัน

อินชัวร์เทค เป็นเรื่องที่ใหม่ในฝั่งอเมริกา และยุโรป แต่เป็นเรื่องที่ถือว่ากำลังเป็นกระแสอย่างมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังมีปัจจัย และปัญหามากมาย ที่เป็นโอกาสให้สตาร์ทอัพหน้าใหม่ ใช้เป็นไอเดียในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆได้ ดังนี้

ยอดรวมเบี้ยประกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอกาสในการเติบโต

ในปี 2016 ยอดรวมของเบี้ยประกันวินาศภัย และประกันชีวิต จาก 10 ประเทศในอาเซียน มีมูลค่ารวมกันประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท และมีอัตราการเข้าถึงประกัน (Insurance penetration Rate) เพียง 3.12% เท่านั้น (ที่มา: Swiss Re, Sigma No.3/2017 and AIC 2017 ASEAN Insurance Statistical Report)

จากอัตราการเข้าถึงประกันที่ต่ำในปัจจุบัน รวมกับจำนวนประชากรอาเซียนกว่า 634.5 ล้านคน ส่งผลให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าตลาดประกันในภูมิภาคนี้ยังสามารถโตได้อีกมาก เป็นโอกาสสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่ที่มีไอเดียในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้

ความท้าทายในแง่การบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกัน

ความเสี่ยงในธุรกิจประกันภัยนั้นมีมากมาย เช่นภัยธรรมชาติ การโกงประกัน การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร แค่ฉพาะประเทศไทย การโกงประกันภัยอย่างเดียว ก็ทำให้สูญเสียเงินไปแล้วกว่า 11,000 ล้านบาทต่อปี ความเสี่ยงที่บริษัทประกันภัยต้องแบกรับ ทำให้ผู้เอาประกันที่ความเสี่ยงต่ำ ต้องจ่ายเบี้ยที่สูงกว่าระดับความเสี่ยงของตัวเอง

ดังนั้นนอกจากสตาร์ทอัพหน้าใหม่ ที่เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องการขายสินค้าแล้ว วงการประกันยังต้องการผู้เล่นที่สามารถเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยง และพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันที่เหมาะกับแต่ละบุคคลด้วย ยกตัวอย่างเช่นการนำเอา AI และ Big Data เข้ามาใช้ในการประเมินเบี้ยประกันที่เหมาะสำหรับแต่ละบุคคล หรือการนำเอา data เข้ามาช่วยลดการโกงประกัน

ความไม่มีประสิทธิภาพในช่องทางการขายประกันภัย

ในหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ยังพึ่งพาการขายประกันผ่านตัวแทน และโบรกเกอร์เกิน 50% ของมูลค่าเบี้ยประกันทั้งหมด UBS ได้ระบุไว้ในรายงานเรื่อง Shifting Asia ว่า การจัดจำหน่ายสินค้าประเภทประกันในเอเชียนั้น ยังมีต้นทุนที่สูง และไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องมาจากประชากรที่มีจำนวนมาก และกระจายตัวของประชากร

การเข้ามาของแอพพลิเคชั่น และบริการออนไลน์ต่าง ๆ สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และทำให้การซื้อประกันเป็นเรื่องง่ายขึ้น และจะส่งผลให้มีการเติบโตด้านอัตราการเข้าถึงประกันภัย และเบี้ยประกันภัย ทั้งยังเชื่อว่าภายในปี 2025 วงการประกันในเอเชีย จะสามารถประหยัดเงินได้ถึงสามแสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จากการพัฒนาของของธุรกิจ Insurtech

การเติบโตและความครึกครื้นในอุตสาหกรรม Insurtech นั้น นอกจากในมุมมองของผู้บริโภค ที่จะได้รับการบริการที่ดีขึ้น มีตัวเลือกของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตัวเองแล้ว ในมุมของบริษัทประกัน ก็จะสามารถลดต้นทุน และบริหารความเสี่ยงได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และอาเซียนเองก็เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตในธุรกิจประกันต่อไปได้เรื่อย ๆ และยังมีช่องว่างในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อีกเยอะ ในช่วง 1-3 ปีนี้ น่าจะเป็นช่วงที่เราได้เห็น Startups หน้าใหม่ลงมาเล่นในกลุ่มนี้อีกมากมาย